2012-05-05

บัวหลวง





บัวหลวงในเมืองไทย แบ่งตามสี ได้ 2 ชนิด คือ บัวหลวงสีขาว และบัวหลวงสีชมพู   มีกลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ก้านดอกสีเชียว อวบกลมส่งดอกชูขึ้นเหนือน้ำ  กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ มีทั้งกลีบดอกชั้นเดียวและกลีบดอกซ้อนกัน  มีเกสรตัวผู้จำนวนมากติดอยู่รอบฐานรองดอกที่บวมขยายใหญ่ หุ้มรังไข่ไว้ภายในเรียกว่า   "ฝักบัว"   ดอกบานเต็มที่กว้าง 20-25 เซนติเมตร บัวหลวงมีหลายพันธุ์มีชื่อเรียกต่างกันไปตามขนาดและลักษณะชองดอก

สำหรับบัวหลวง คนไทยถือเป็นไม้มีตระกูล ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา จึงเป็นดอกไม้สำหรับบูชาพระ และใช้ในงานพิธีกรรม แต่เพราะคนไทยใกล้ชิดกับบัว เราจึงใช้ประโยชน์จากบัวทุกส่วนเป็นทั้งอาหารและเป็นยา


สมัยเด็ก ๆ เราทุกคนคงเคยกินฝักบัวมาแล้ว เนื้อในเมล็ดนอกจากจะหวานอร่อยแล้ว ยังใช้เป็นยาชูกำลังอีกด้วย แต่ถ้าจะให้อร่อยดีต้องกินเมล็ดบัวจากฝักที่เก็บมาใหม่ ๆ จึงจะหวาน หากทิ้งไว้นานน้ำตาลในเมล็ดถูกใช้หมดไปจะเหลือแต่แป้ง ฝักบัวในตลาดเดี๋ยวนี้ที่แม่ค้าเก็บมาค้างคืน กว่าจะเอามาวางขายที่ตลาดได้ก็ข้ามวันแล้ว จะอร่อยสู้ฝักบัวเมื่อก่อนที่เราพายเรือเก็บจากหนองน้ำมากินสด ๆ ไม่ได้


ส่วนที่ใช้บริโภค:  เม็ดบัว รากบัว ไหลบัว สายบัว ใบอ่อน

การปรุงอาหาร:
    -    เม็ดบัว สามารถนำมากินได้ทั้งสดและแห้ง เม็ดบัวมีปริมาณสารอาหารที่สำคัญ คือ โปรตีน ประมาณ 23 % ซึ่งสูงกว่าข้าวถึง 3 เท่า และเป็นแหล่งรวมธาตุ อาหารหลายชนิดด้วยกัน เม็ดบัวนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น สังขยา เม็ดบัว ขนมหม้อแกงเม็ดบัว เม็ดบัวเชื่อม สาคูเม็ดบัว เป็นต้น
    -    รากบัว นิยมนำมาเชื่อมแห้งกินเป็นของหวาน
    -    ไหลบัว สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสด ทั้งแห้ง โดยมากจะนำมาแกงส้ม แกงเลียง ผัดเผ็ดต่าง ๆ
    -    สายบัว สามารถปรุงอาหารแทนผักได้หลายชนิด ทั้งแกงส้มสายบัว แกงสายบัวกับปลาทู ฯลฯ
    -    ใบอ่อน สามารถนำมากินเป็นผักสดแกล้มน้ำพริก

สรรพคุณทางยา:
    -    รากบัว นำไปต้มกับน้ำตาลกรวด แก้ร้อนใน ชาวอินเดีย จะให้เด็กดื่มน้ำรากบัว เพื่อระงับอาการท้องร่วง
    -    สายบัว กินเพื่อแก้อาการท้องร่วง
    -    ใบบัว นำมาหั่นฝอย ๆ ชงดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
    -    เกสรบัว  ส่วนของเกสรสีเหลือง สามารถใช้เข้าเครื่องยาทั้งไทยและจีน โดยเฉพาะยาลม ยาหอม ยาบำรุงหัวใจ และยาขับปัสสาวะ
    -    ดีบัว เป็นส่วนของต้นอ่อนที่อยู่ภายในเม็ดบัว มีรสขมจัด สามารถนำมาเป็นส่วนผสมของยาโบราณ มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้

บัวหลวงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งในสระ หรือในกระถางขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า อ่างบัว หรือปลูกเป็นบัวขนาดย่อส่วนในกระถางขนาดเล็ก ก็ จะทำให้บัวหลวงมีขนาดเล็กตามไปด้วย บัวหลวงเป็นพืชที่แข็งแรง ทนทาน และปลูกง่ายมาก การขยายพันธุ์ก็ทำ ได้ง่ายโดยการแยกเหง้า (หรือไหล)